สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จี้รัฐกระตุ้นชีพจรค้าปลีก หลังสู่โค้งต่ำสุดในรอบ 20 ปี

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จี้รัฐกระตุ้นชีพจรค้าปลีก หลังสู่โค้งต่ำสุดในรอบ 20 ปี

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทยมีอัตราการเติบโตถดถอยอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสแรกของปี 2016 เหลือเพียง 2.6% แนะรัฐควรผลักดัน Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกในขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินไปได้ในภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้น พร้อมกระตุ้นให้คนใช้สอยภายในประเทศ กันเงินไหลออก

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ธุรกิจค้าปลีกไทยประสบปัญหาการเติบโตที่ชะลอตัวจนถึงขั้นติดลบ ตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทยมีอัตราการเติบโตถดถอยตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โดย ปี 2002-2012 อัตราเฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ 8% ต่อปี , ปี 2012-2014 อัตราเฉลี่ยการเติบโตติดลบที่ -3% ต่อปี, ปี 2015 อัตราการเติบโตก็ยังติดลบต่อเนื่อง เนื่องจากทิศทางการผลักดันเศรษฐกิจมุ่งไปยังการปรับโครงสร้างและการส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศจึงไม่เข้าเป้าหมาย

ทั้งนี้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เคยคาดการณ์ว่าปี 2016 สถานการณ์ค้าปลีกน่าจะดีขึ้น แม้ดัชนีค้าปลีกตลอดทั้งปี 2015 จะต่ำกว่าร้อยละ 3.0 แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ดัชนีค้าปลีกไตรมาสที่ 1 ปี 2016 ยังคงถดถอยลง เติบโตเหลือเพียงร้อยละ 2.6

— ตารางแสดงดัชนีค้าปลีก —

ด้านการลงทุนในภาคค้าปลีก มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยอดเม็ดเงินการลงทุนจากปี 2015-2017 คาดว่าจะอยู่ที่ 130,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากและสูงกว่าการก่อสร้าง BTS (123,300 ล้านบาท) หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz (76,000 ล้านบาท) ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 210,000 คนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 150.000 คน ทั้งนี้ทางสมาคมฯ มีความกังวลว่าภาคค้าปลีกอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการลงทุนเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง หากยอดใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงถดถอยมาตลอดกว่า 4 ปีเช่นนี้

การที่การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่ง (Retail Consumption) อ่อนแอลงมาตลอด สาเหตุหลัก คือ กำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรซึ่งยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่ และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านกองทุนหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่แทบจะไม่มีการเติบโตเลย ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางขึ้นบนที่ยังมีกำลังซื้อที่แข็งแรงอยู่ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กลับไม่ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) เติบโตแต่อย่างไรแต่กลับถดถอยลง ( หมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งหมวดนี้เคยมีการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8-12 ในช่วง 10 ปี่ผ่านมา)

ในส่วนผลกระทบต่อภาครวมค้าปลีกในแง่การท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น พบว่าคนไทยในระดับรายได้สูงถึงปานกลางออกเดินทางไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตรา 9% ต่อปี (ตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) โดยในปี 2015 คนไทยใช้จ่ายในต่างประเทศ สูงถึง 170,032 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการจับจ่ายสินค้าแบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในประเทศไทยสูงถึง 50,840 ล้านบาท

จากข้อมูลมูลค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 9 หมวดจาก 17 หมวด ตามนิยามของของกรมศุลกากร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2015 มีมูลค่าสูงถึง 114,821 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาในมิติของภาษีนำเข้า พบว่า มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (duty paid) มีมูลค่า 41,307 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีตาม พรบ. ศุลกากร ( duty free) มีมูลค่าสูงถึง 73,513 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า มูลค่าสินค้านำเข้า Duty paid ถึงร้อยละ 78 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความได้เปรียบจากกฏหมายด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้า ได้ทำลายโครงสร้างการค้าปลีกในเมืองอย่างรุนแรง มูลค่าสินค้าจำหน่ายใน duty free ไม่กี่แห่งมีมูลค่าสูงกว่าร้านค้าในเมืองหลายพันร้านค้าถึงเกือบเท่าตัว

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทย แม้ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยอัตรา 12% ต่อปี จนอยู่ที่ระดับ 29.5 ล้านคนในปี 2015 แต่มูลค่าการบริโภคสินค้าจากร้านค้าในประเทศกลับไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มุ่งเน้นไปที่ Shopping Tourism สินค้าแบรนด์เนมมีราคาสูงกว่าต่างประเทศ ราว 20-30% และ นักท่องเที่ยวนิยมที่จะซื้อสินค้าที่ร้านค้าปลอดอากรเป็นหลัก เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า

อีกกรณีที่มีผลกระทบต่อภาพรวมค้าปลีก คือ “ตลาดของหิ้ว” หรือ “grey market” ปัจจุบันตลาดกลุ่มนี้ใหญ่มาก จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีผู้ประกอบการ ที่ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงผ่านช่องทาง social media ถึง 1,005,000 ราย แต่มีเพียง 2% เท่านั้น ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์เนมบางรายได้ประมาณว่า มูลค่าสินค้านอกระบบ หรือ grey market ใหญ่พอๆกับตลาดสินค้าในระบบ ซึ่งสินค้านอกระบบส่วนนี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐและควบคุมได้ยาก

ข้อเสนอต่อภาครัฐ จากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

  • ภาครัฐควรต้องผลักดัน Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง อย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกในขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินไปได้ในภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นขึ้นอย่างชัดเจน หนึ่งในรูปธรรมของนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ก็คือ การเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อสินค้าและยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการใช้จ่ายในประเทศให้มากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆอาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น
  • รัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งกำลังซื้อยังค่อนข้างแข็งแรง อย่าง มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” เพื่อให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่ภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ เมื่อเกิดการจับจ่าย ก็จะส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ท้องถิ่นต่างจังหวัด ซึ่งกำลังซื้ออ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น แต่ มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่ 15,000 บาท แต่ควรพิจารณาให้สามารถจับจ่ายได้เกิน 15,000 บาทโดยพิจารณาเพิ่มขึ้นตามเงินรายได้พึงประเมินที่เพิ่มขึ้น เช่น คนมีรายได้พึงประมาณเกินกว่าเพดานสูงสุดก็น่าจะสามารถนำมาลดหย่อนได้มากกว่า 15,000 บาท
  • สมาคมมีความกังวลว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น Low Season ของนักท่องเที่ยว และ Low season ของการจับจ่ายบริโภค สมาคมฯได้เสนอ โครงการ “Thailand Brand Sale” โดยร่วมกับผู้ประกอบการค้าปลีกจัดลดราคาสินค้าที่หมดฤดูกาล ประกอบด้วย สินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทย แบรนด์ต่างประเทศ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้า OTOP และพิจารณาลดภาษีนำเข้าบางส่วน พร้อมกัน ทุกห้างทุกศูนย์การค้าในจังหวัดท่องเที่ยว 10 จังหวัด เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นเพิ่มการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้บริโภคคนไทย ที่นิยมไปจับจ่ายสินค้าในต่างประเทศ ดึงเม็ดเงินที่ไปจับจ่ายต่างประเทศกว่า 5 หมื่นล้านกลับมาหมุนเวียนในประเทศ
  • พิจารณาการใช้มาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่นักนักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี กรณีที่ 1 คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สถานที่ขายสินค้าในทันที กรณีที่ 2 ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ       ศูนย์ (0) สำหรับชาวต่างชาติ โดยมีวงเงินขั้นต่ำในการซื้อสินค้าแต่ละครั้งตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
  • ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ ด้วยเหตุผลหลายประการ (สถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติ วัฒนธรรม) แต่การเป็นจุดหมายของการจับจ่ายใช้สอยสินค้า (Shopping Destination ) ยังไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกมาประเทศไทย สมาคมฯเสนอให้ภาครัฐ ผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง สร้างให้การช้อปปิ้งเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย
Comments (0)
Add Comment