คู่มือชีวิตและการทำงาน

เปิดอินไซต์คนหางาน ในครึ่งปีแรก 62 กับ 5 อาชีพที่คนอยากทำงานมากสุด

จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ ได้เปิดเผยข้อมูลอินไซต์คนหางานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา จากข้อมูลผู้หางานผ่าน  จ๊อบไทย โมบาย แอปพลิเคชัน (JobThai Mobile Application)  จำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน จำนวน 782,551 คน  โดยจำนวนใบสมัครถูกส่งผ่านจ๊อบไทย โมบาย แอปพลิเคชัน มากถึง 2,306,292  ครั้ง จากจำนวนผู้สมัคร 318,890 คน  โดยพบว่า

คนทำงานอายุ 25 – 34 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลัก คิดเป็น 58.7% ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งของผู้ใช้งานทั้งหมด ลำดับถัดมาเป็นช่วงอายุ 35 – 44 ปี คิดเป็น 17.5% และอายุ 18-24 ปี คิดเป็น 15.6% ในขณะที่ผู้ใช้งานที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป คิดเป็น 8.2%

 

เพศหญิงหางานมากกว่าเพศชาย โดยผู้ใช้งานเพศหญิง คิดเป็น 62.9% ในขณะที่เป็นเพศชาย คิดเป็น 37.1% เมื่อพิจารณาอายุของผู้ใช้งานจะเห็นได้ว่า ผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุ 25 – 34 ปี

 

ช่วงเวลาที่มีการหางานมากที่สุด ช่วงเวลา 9.00 น. – 16.00 น. สูงกว่าช่วงกลางคืน โดยพบว่า 11.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เข้าใช้งานสูงที่สุด และเมื่อดูพฤติกรรมการเข้าใช้งานเป็นรายวัน พบว่าการเข้าใช้งานในช่วงวันธรรมดาจะสูงกว่าวันหยุด โดยวันพุธเป็นวันที่มีการเข้าใช้งานสูงที่สุด

 

ผู้ใช้งานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง  คิดเป็น 74.7% ระดับ ปวส. คิดเป็น 14.73%  ระดับปริญญาโท คิดเป็น 4.48% และในระดับการศึกษาอื่น ๆ รวมกันอยู่ที่ 6.08% เมื่อแยกตามสาขาวิชาที่จบของผู้สมัครงาน พบว่าอันดับหนึ่ง ได้แก่ บริหาร/การจัดการ/บุคคล คิดเป็น 11.6% อันดับสอง บัญชี/การเงิน/การธนาคาร คิดเป็น 10.6% อันดับสาม เลขา/ประชาสัมพันธ์/ธุรการ/คอมพิวเตอร์ธุรกิจ คิดเป็น 6.1% อันดับสี่ วิศวกรรมอุตสาหการ/เครื่องกล/โรงงาน คิดเป็น 5.9% อันดับห้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์/ช่างไฟฟ้า/ช่างคอมพิวเตอร์ คิดเป็น 4.5%

5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 76,204 อัตรา เนื่องมาจากภาคการท่องเที่ยวที่มีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมตรวจลงตราหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังคงมีการขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดสูงสุด คือ จีน มาเลเซีย และอินเดียตามลำดับ (ที่มา:กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เกิดจากความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย

 

2.ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 58,481 อัตรา ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกลุ่มยานยนต์รวมอยู่ด้วย ด้านทรัพยากรบุคคลจึงมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของแรงงาน เช่น กลุ่มวิศวกร และช่างเทคนิคให้มีความพร้อมมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนนี้

 

3.ธุรกิจบริการ จำนวน 56,893 อัตรา เนื่องจากการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ทำให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ มารองรับมากขึ้น ตลอดจนการใช้ชีวิตและกิจกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดบริการใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น

 

4.ธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 49,631 อัตรา มีปัจจัยจากการเติบโตต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงการก่อสร้างภาคเอกชน ทำให้ความต้องการบุคลากรในประเภทธุรกิจนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

5.ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 49,365 อัตรา การบริโภคยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกมีการปรับตัวหลายด้าน ทั้งการพัฒนารูปแบบร้านค้า การเพิ่มความหลากหลายทั้งสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น

5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด ซึ่งมีอัตราการเปิดรับทั้งหมดโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 135,069 อัตรา

1.งานขาย คิดเป็น 18.6%

2.งานช่างเทคนิค คิดเป็น 10.1%

3.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.1%

4.งานธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 6.5%

5.งานวิศวกรรม คิดเป็น 5.8%

 

5 สายงานที่มีผู้สมัครมากที่สุด

1.งานธุรการ/จัดซื้อ มีการสมัครสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 13.22%

2.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 10.50%

3.งานขาย คิดเป็น 8.12%

4.งานทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 7.10%

5.งานวิศวกรรม คิดเป็น 6.48% ของผู้สมัครทั้งหมด

 

งานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด  จากการเปรียบเทียบความต้องขององค์กรและความนิยมในการสมัครงาน ได้แก่

1.งานนำเข้า-ส่งออกและทรัพยากรบุคคล  มีการแข่งขันอยู่ที่ 4.79 คน ต่อ 1 อัตรา

2.วิทยาศาสตร์/วิจัยพัฒนามีอัตราการแข่งขันอยู่ที่  4.44 คน ต่อ 1 อัตรา

3.สิ่งแวดล้อม มีอัตราการแข่งขันอยู่ที่ 3.12 คน ต่อ 1 อัตรา

4.เลขานุการ อัตราการแข่งขัน  3.05 คน ต่อ 1 อัตรา